สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

TRADE COMPETITION COMMISSION OF THAILAND

คำถามที่พบบ่อย

 

คำถามที่ 1 : การรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดที่ต้องขออนุญาตนั้น “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” ตามนิยามประกาศหลักเกณฑ์ การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดเขียนว่า ในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง ทางคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พิจารณาการขออนุญาตเฉพาะการรวมธุรกิจในตลาดสินค้า/บริการ ที่เข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด หรือแม้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดสินค้าอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจก็ต้องขออนุญาตด้วย

ทางคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พิจารณาการขออนุญาตเฉพาะการรวมธุรกิจในตลาดสินค้า/บริการ ที่เข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด หรือแม้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดสินค้าอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจก็ต้องขออนุญาตด้วย

คำตอบ :

กรณีนี้ต้องพิจารณาแยกจากกันระหว่าง

1. “การผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดใดตลาดหนึ่งมาก่อนมีการรวมธุรกิจ”

2. “การผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดใดตลาดหนึ่งโดยเกิดจากการรวมธุรกิจ” โดยกรณีการรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาตนั้น จะต้องเป็นกรณีการรวมแล้วจะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมนั้น ดังนั้น ถ้าหากเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดสินค้าหรือบริการอื่นมาก่อนมีการรวมธุรกิจและธุรกิจนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ เช่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ต้องการรวมธุรกิจกับบริษัทผลิตน้ำดื่มเพื่อประกอบธุรกิจน้ำดื่มและการรวมนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดน้ำดื่มแต่อย่างใด กรณีก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเนื่องจากมิใช่การรวมที่จะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดน้ำดื่ม แม้ว่าบริษัทที่รวมจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดอื่นก็ตาม สรุปได้ว่าแนวทางการพิจารณาการขออนุญาตจะพิจารณาเฉพาะการรวมธุรกิจในตลาดสินค้า/บริการ ที่เข้าข่ายการเป็นการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดเฉพาะตลาดที่มีการรวมเท่านั้น

คำถามที่ 1 : บริษัทโรงงาน A ผลิตและขายส่งสินค้ายี่ห้อ A โดยมีบริษัทลิสซิ่ง A (ไฟแนนซ์) เป็นบริษัทลูกให้สินเชื่อเช่าซื้อสินค้ายี่ห้อ A เท่านั้น บริษัทโรงงาน A (บริษัทแม่) และ บริษัทลิสซิ่ง A (บริษัทลูก) ถือว่าเป็น หน่วยทางธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) หรือไม่

คำตอบ :

ต้องพิจารณาดูว่าทั้ง 2 บริษัทซึ่งเป็นแม่-ลูกกัน มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการหรือไม่ กล่าวคือ บริษัททั้ง 2 ราย มีแนวทางนโยบาย หรือวิธีการบริหาร อำนวยการ หรือจัดการธุรกิจภายใต้บุคคลที่มีอำนาจสั่งการคนเดียวกันหรือไม่ โดยอำนาจสั่งการนั้นจะหมายถึงอำนาจควบคุมด้วยวิธีการถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงเกินกว่า 50% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด การควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม และรวมถึงการสั่งการเป็นทอด ๆ จากบริษัทแม่ หากทั้ง 2 บริษัทมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเช่นนี้ก็จะถือว่าเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity)

คำถามที่ 2 : บริษัทโรงงาน A ผลิตและขายส่งสินค้ายี่ห้อ A โดยมีบริษัทลิสซิ่ง A (ไฟแนนซ์) เป็นบริษัทลูกให้สินเชื่อเช่าซื้อสินค้ายี่ห้อ A เท่านั้น ถ้าตลาดสินค้านี้มีเพียงบริษัทโรงงาน A และบริษัทโรงงาน B ที่ผลิตภายใต้ยี่ห้อตัวเองและมีบริษัทลูกให้สินเชื่อในสินค้ายี่ห้อของตัวเองเท่านั้นเช่นกัน จะถือว่าบริษัทลูกที่เป็น captive leasing ของทั้งสองถือเป็นตลาดเดียวกันหรือไม่

คำตอบ :

หลักการพิจารณาขอบเขตตลาดจะพิจารณาจาก

(1) สินค้า (Product Dimension)

(2) ภูมิศาสตร์ (Geographic Dimension)

(3) ห่วงโซ่อุปทาน (Function Dimension)

(4) อื่นๆ (Other Dimension) เช่น เวลา ฯ

กรณีบริษัทลูกของทั้ง A และ B ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการสินเชื่อจะพิจารณากำหนดขอบเขตตลาดโดยพิจารณาจากสินค้า/บริการ ซึ่งก็คือการให้บริการสินเชื่อเหมือนกัน และสินค้าหรือบริการนั้นสามารถในการทดแทนกันได้ เช่นนี้ บริษัทลูกของทั้ง A และ B ที่เป็น captive leasing จึงเป็นบริการที่อยู่ในตลาดเดียวกัน

คำถามที่ 1. กรณี ถ้าเจ้าของผลิตภัณฑ์กำหนดให้แต่ละตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (Authorized Dealer) ขายในเฉพาะจังหวัดของตัวเองโดยห้ามขายข้ามเขต / ห้าม dealer ขายให้กับลูกค้านอกพื้นที่ เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่ลูกค้ารวมถึงบริการหลังการขายได้ดีที่สุดในพื้นที่นั้น ๆ ในกรณีนี้สามารถทำได้หรือไม่

คำตอบ :

โดยหลักของกฎหมายแข่งขันทางการค้า การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจอันมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นนั้น ไม่สามารถทำได้ แต่ในกรณีของการตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการโดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ และมีการกำหนดเงื่อนไขบางประการนั้นสามารถทำได้ เนื่องจาก

1) มีการตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในต่างระดับกัน

2) มีเหตุผลทางการขายเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการซึ่งไม่ได้เป็นการจำกัดการแข่งขันหรือแทรกแซงการประกอบธุรกิจโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร