สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

TRADE COMPETITION COMMISSION OF THAILAND

มาตรา 54 และ มาตรา 55 : การตกลงร่วมกัน ผูกขาด ลด และจำกัดการแข่งขัน

 

นิยามตลาด

“ตลาด” หมายความว่า ตลาดที่เกี่ยวเนื่องในสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันหรือที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยให้พิจารณาด้านคุณลักษณะ ราคา หรือวัตถุประสงค์การใช้งานของสินค้าหรือบริการ และด้านพื้นที่ในการจําหน่ายสินค้าหรือให้บริการ

นิยามผู้ประกอบธุรกิจ

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้จําหน่าย ผู้ผลิตเพื่อจําหน่าย ผู้สั่งหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อจําหน่าย ผู้ซื้อเพื่อผลิตหรือจําหน่ายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการในธุรกิจ

การตกลงร่วมกันที่ส่งผลกระทบร้ายแรง

คือ การตกลงร่วมกันระหว่าง คู่แข่งที่แข่งขันใตลาดเดียวกัน เพื่อที่จะกำหนดราคา ปริมาณ หลักเกณฑ์ กติกา เงื่อนไขทางการค้า รวมไปถึงการฮั้วประมูล พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการทำลายการแข่งขันอย่างร้ายแรง ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายว่าเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน จะประกอบด้วยดังต่อไปนี้

1. ผู้ประกอบธุรกิจที่กำหนดราคาซื้อหรือราคาขาย หรือเงื่อนไขทางการค้าใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ

(ก) มีการกำหนดราคาซื้อหรือราคาขาย ของสินค้าหรือบริการในตลาด เช่น การกำหนดเป็นราคาเดียวกัน หรืออยู่ในช่วงราคาที่ได้ตกลงกัน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การกำหนดช่วงราคา หรือ สัดส่วน ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายสามารถขึ้นหรือลดราคาได้

(ข) การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการในตลาด เช่น ส่วนลด (Discount) ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง บริการเสริม เงื่อนไขการชำระเงิน เงื่อนไขการรับประกัน

2. การจำกัดปริมาณของสินค้าหรือบริการ ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย หรือบริการตามที่ตกลงกัน

(ก) การกำหนดปริมาณ ในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้า หรือให้การบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

(ข) การกำหนดสัดส่วน ในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้า หรือให้การบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

(ค) การกำหนดโควตา ในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้า หรือให้การบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

3. การกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขลักษณะแบบสมรู้กัน เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งได้รับการประมูล หรือ ได้ประกวดราคาสินค้าหรือบริการ หรือการที่ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งเข้าแข่งขันราคาในการประมูล หรือการประกวดราคาสินค้า,บริการ

(ก) การประมูลหรือประกวดราคาสินค้า หรือบริการ และ การกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

1) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง ได้รับการประมูลหรือประกวดราคาสินค้า หรือบริการนั้น

2) เพื่อมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง เข้าแข่งขันราคาในการประมูลหรือประกวดราคา สินค้า หรือ บริการ นั้นได้

4. การกำหนดแบ่งท้องที่ ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย หรือ ลดการจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือบริการได้ในท้องที่ นั้นๆ หรือการกำหนดผู้ซื้อ หรือผู้ขาย ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจำหน่าย หรือซื้อสินค้าหรือบริการได้โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่ซื้อ หรือจำหน่าย

(ก) การกำหนดแบ่งท้องที่ ที่ผู้ประกอบธุรกิจ แต่ละรายจะจำหน่าย หรือลดการจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือบริการได้ในท้องที่นั้น

(ข) การกำหนดคู่ค้า ได้แก่ ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจัดจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือ บริการได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่ซื้อหรือจำหน่าย หรือซื้อสินค้า บริการนั้น

  • (การกำหนดราคา Price Fixing)

  • การจำกัดปริมาณ Quantity Limitation

  • การฮั้วประมูล Bid Rigging

  • (การแบ่งท้องที่ Market Allocation)

คือ การตกลงร่วมกันระหว่างคู่ค้า เป็นการทำลายการแข่งขันที่ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรง แต่บางกรณีการตกลงร่วมกันระหว่างคู่ค้าอาจเป็นรูปแบบธุรกิจแบบแฟรนไชส์หรือเรียกว่า ธุรกิจที่แตกออกมาจากบริษัทแม่ หรืออาจเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการอนุญาต (Franchise, Authorized dealer) แต่จะต้องไม่เป็นการลด หรือ จำกัดการแข่งขันในตลาด สินค้าหรือบริการนั้น โดยมีเกณฑ์ข้อห้ามดังต่อไปนี้

(1) ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 54 (1) (2) หรือ (4) ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดราคาซื้อหรือราคาขาย หรือเงื่อนไขทางการค้าใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ

(ก) การกำหนดราคาซื้อหรือราคาขาย ของสินค้าหรือบริการในตลาด เช่น การกำหนดเป็นราคาเดียวกัน หรืออยู่ในช่วงราคาที่ตกลงกัน หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การกำหนดช่วงราคา หรือ สัดส่วน ที่ผู้ประกอบธุรกิจ แต่ละราย สามารถขึ้นหรือลดราคาได้

(ข) การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการในตลาด เช่น ส่วนลด (Discount) ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง บริการเสริม เงื่อนไขการชำระเงิน เงื่อนไขการรับประกัน

(2) จำกัดปริมาณของสินค้าหรือบริการ ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต ซื้อ จำหน่าย หรือบริการตามที่ตกลงกัน

(ก) การกำหนดปริมาณ ในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้า หรือให้การบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

(ข) การกำหนดสัดส่วน ในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้า หรือให้การบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

(ค) การกำหนดโควตา ในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้า หรือให้การบริการ ของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

(4) การกำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย หรือ ลดการจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือบริการได้ในท้องที่นั้น หรือกำหนดผู้ซื้อ หรือผู้ขาย ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจำหน่าย หรือซื้อสินค้าหรือบริการได้โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่ซื้อ หรือจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือบริการนั้น

(ก) การกำหนดแบ่งท้องที่ ที่ผู้ประกอบธุรกิจ แต่ละรายจะจำหน่าย หรือลดการจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือบริการได้ใบท้องที่นั้น

(ข) การกำหนดคู่ค้า ได้แก่ ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจัดจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือ บริการได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่ซื้อหรือจำหน่าย หรือซื้อสินค้า บริการนั้น

(2) การลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิตจำหน่ายหรือให้บริการ

โดยจะพิจารณาถึง การลดคุณภาพสินค้าหรือบริการในตลาดของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย ให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิตหรือจำหน่าย หรือให้บริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายอาจลดคุณภาพสินค้าหรือบริการในรายละเอียดที่แตกต่างกัน

(3) แต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดแต่ผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน

(ก) มีการแต่งตั้งมอบหมาย โดยอาจเป็นลายลักษณ์อักษร หรือรูปแบบอื่นก็ได้

(ข) บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

(ค) บุคคลนั้นได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าหรือผู้แทนให้บริการในตลาดที่เป็นอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน

(4) การกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการเพื่อให้ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน

(ก) มีการกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติให้ผู้ประกอบธุรกิจต่ละรายปฏิบัติตาม โดยอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือรูปแบบอื่นก็ได้

(ข) เป็นเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการในตลาด

1. พิจารณาจากข้อตกลงที่มีผลบังคับและไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย โดยอาจจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดย วาจา ทั้งนี้ ข้อตกลงอาจมาจากการประชุมหารือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ การส่งเอกสาร การสื่อสารทางโทรศัพท์ หรือวิธีการอื่นใด

2. มีการตัดสินใจของสมาคม หรือ ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายที่รวมตัวกัน โดยเป็นการดำเนินการที่เกิดเป็นข้อสรุปต่าง ๆ เช่นข้อบังคับ ข้อเสนอแนะ มติของคณะกรรมการบริหาร มติของที่ประชุมสามัญ ของสมาชิก เป็นต้น

3. มีการกระทำร่วมกันที่ไม่ปรากฎข้อตกลงเฉพาะหรือไม่ปรากฎการตัดสินใจที่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งจะพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตระหนักรู้ของผู้ประกอบธุรกิจว่าได้กระทำการร่วมกัน

แนวทางการพิจารณาการกระทำที่เป็นการลดการแข่งขัน

โดยพิจารณาถึงการแข่งขันที่ลดลงในตลาด เช่น จำนวนคู่แข่งในตลาดลดลง จำนวนสินค้า หรือบริการในตลาด ที่แข่งขันกันลดลง ทั้งนี้ ให้พิจารณาเฉพาะกรณีผู้ประกอบธุรกิจมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ร้อยละสิบขึ้นไป

แนวทางการพิจารณาการกระทำที่เป็นการจำกัดการแข่งขัน

โดยพิจารณาจากการกระทำอันเป็นการจำกัดการแข่งขัน ให้พิจารณาถึงการแข่งขันที่ถูกจำกัดในตลาดใดตลาดหนึ่ง เช่น คู่แข่งขันในตลาดรายหนึ่งถูกจำกัดสิทธิหรือโอกาสในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการในตลาด หรือถูกจำกัดสิทธิหรือโอกาสในการดำเนินการเพื่อแข่งขันในตลาด ทั้งนี้ ให้พิจารณาเฉพาะกรณีผู้ประกอบธุรกิจมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ร้อยละสิบขึ้นไป

กรณีการตกลงร่วมกันในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิด ตามมาตรา 55

1.การกระทำระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ พ.ศ. 2561

1.1 การตกลงร่วมกันในรูปแบบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า และการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคนิคหรือเศรษฐกิจ

1.2 การตกลงร่วมกันในรูปแบบธุรกิจทีมีสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในต่างระดับกันโดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ใช้สิทธิในสินค้าหรือบริการ เครื่องหมายการค้า วิธีการดำเนินธุรกิจ หรือสนับสนุน การประกอบธุรกิจ และอีกฝ่ายเป็นผู้รับสิทธิซึ่งมีหน้าที่ชำระค่าสิทธิ ค่าธรรมเนียม หรือผลตอบแทนอื่นใด ตามระบุในสัญญา เช่น สัญญาในการทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise Agreement) หรือรูปแบบตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (Authorized Dealer) เป็นต้น

การตกลงร่วมกันตามข้อ 1.1 และ 1.2 จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ไม่สร้างข้อจำกัดที่เกินกว่าความจำเป็นในการบรรลุประโยชน์ที่กำหนดไว้ตามข้อ 1.1 , 1.2 โดยจะต้องพิจารณาว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของข้อยกเว้นจะต้องสมเหตุสมผล ต่อการกระทำที่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบที่เป็นข้อจำกัดของการแข่งขันในตลาด

2. ไม่ก่อให้เกิดอำนาจผูกขาด หรือ จำกัดการแข่งขันในตลาดนั้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การกระทำร่วมกันที่เข้าข่ายข้อยกเว้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาด หรือผู้ประกอบธุรกิจ ที่กระทำการร่วมกันจะต้องมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 10

3. ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคในด้านราคา คุณภาพ ปริมาณ หรือทางเลือกของการใช้สินค้า หรือ บริการ

  • ในกรณีที่มีหลักฐานจนสามารถเชื่อได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะฝ่าฝืนกระทำความผิด ตามมาตรา 54 55 คณะกรรมการสามารถ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำ

    แต่หากผู้ประกอบธุรกิจไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

  • กรณีฝ่าฝืน การตกลงร่วมกันที่ส่งผลกระทบร้ายแรง (มาตรา 54) จะได้รับบทลงโทษทางอาญา โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

    แต่ในกรณีที่กระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • กรณีฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 55 จะได้รับบทลงโทษทางปกครอง ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด แต่ในกรณีที่กระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ให้ชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 1 ล้านบาท